เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 6. พาหิยเถราปทาน
[213] พระฤๅษีผู้ประเสริฐ เสด็จออกจากนคร
ทอดพระเนตรเห็นพระพาหิยทารุจิริยะผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้
เป็นนักปราชญ์ ซึ่งมีความเร่าร้อนอันลอยได้แล้ว
[214] ล้มลงที่ภูมิภาค ดุจคันเสาธงใหญ่อันลมพัดให้ล้มลง
หมดอายุ กิเลสเหือดแห้ง ทำกิจในศาสนาของพระชินเจ้า
[215] ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกสาวกทั้งหลาย
ผู้ยินดีในศาสนามาสั่งว่า เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่าง
ของเพื่อนพรหมจารีแล้วนำไปเผาเสียเถิด
[216] จงสร้างสถูปบูชา เขาเป็นคนมีปรีชามากนิพพานแล้ว
สาวกผู้ทำตามคำของเรา
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ตรัสรู้ได้เร็วพลัน
[217] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียวที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง 1,000 คาถา1
[218] ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ตั้งอยู่ในนิพพานใด
ในพระนิพพานนั้น ดาวฤกษ์ที่สุกสกาวก็ส่องแสงไปไม่ถึง
ดวงอาทิตย์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง
[219] ดวงจันทร์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี
อนึ่ง เมื่อใด พราหมณ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะเป็นผู้สงบ รู้จริงด้วยตนเองแล้ว
[220] เมื่อนั้น เขาย่อมพ้นจากรูปภพ อรูปภพ สุข และทุกข์2
พระโลกนาถผู้เป็นมุนี เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง 3
ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
ได้ทราบว่า ท่านพระพาหิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พาหิยเถราปทานที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. (แปล) 25/101/61
2 ดูเทียบ ขุ.อุ. (แปล) 25/10/188

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :267 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 7. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
7. มหาโกฏฐิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโกฏฐิกเถระ
(พระมหาโกฏฐิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[221] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง1 เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
[222] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[223] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล 5
[224] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[225] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ2

เชิงอรรถ :
1 รู้แจ้งโลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งโลกตามสภาวะ เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึง
ความดับโลก คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ (1) สังขารโลก (2) สัตวโลก
(3) โอกาสโลก (ขุ.พุทฺธ.อ. 60/143)
2 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :268 }